ใบเสมาหินทรายบ้านกุดโง้ง

ใบเสมาหินทรายบ้านกุดโง้ง

ใบเสมาหินทรายบ้านกุดโง้ง

เสมาหินที่พบในภาคอีสานนี้ถือเป็นโบราณวัตถุที่แสดงถึงความเป็นชุมชนสมัยทวารวดี ซึ่งเป็นเวลาที่พุทธศาสนาลัทธิหินยานเผยแผ่เข้ามา โดยใบเสมาเหล่านี้ใช้ปักเพื่อกำหนดเขตในการทำพิธีกรรมของพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ดังเช่น “ใบเสมาบ้านกุดโง้ง” หมู่บ้านเล็กๆ ในอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ มีลักษณะคล้ายเกาะ มีลำน้ำประทาวล้อมรอบ พื้นที่ราบส่วนใหญ่ใช้ในการทำนา ในบริเวณนี้ได้มีการขุดพบเสมาหินทรายขนาดใหญ่เป็นกลุ่มๆ ปักอยู่ทั่วไปทั้งในบริเวณตัวเมืองและบริเวณเนินดินและในทุ่งนารอบๆ ตัวเมือง ซึ่งใบเสมาเหล่านี้อาจกำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 14-16 เลยทีเดียว
ใบเสมาเหล่านี้เป็นใบเสมาที่ทำด้วยหินทรายแดง มีขนาดค่อนข้างใหญ่ บางชิ้นมีความสูงกว่า 2 เมตร ด้านบนมีปลายแหลม มีทั้งเสมาแบบเรียบๆไม่มีลวดลาย และแบบสลักลวดลายเป็นภาพต่างๆ เช่นบางใบมีลวดลายสลักรูปดอกบัว รูปสถูป ภาพบุคคลเช่นภาพพระพุทธเจ้า ภาพพระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตย บ้างก็เป็นภาพเล่าเรื่องในชาดกและคติธรรมทางพุทธศาสนา เช่น เรื่องพระเวสสันดร เรื่องมโหสถชาดก เตมียชาดก ภาพพระโพธิสัตว์ประทับยืนบนดอกบัว ภาพพระพุทธเจ้าประทับนั่งบนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์เป็นต้น
ปัจจุบันชาวบ้านได้นำเอาเสมาหินที่รวบรวมได้จากบริเวณต่างๆ มารวมไว้ภายในศาลาวัดและโรงเรียนบ้านกุดโง้ง รวมทั้งหมดกว่า 30 ชิ้น และอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร แต่ก็ยังมีใบเสมาหินอีกหลายสิบชิ้นที่ยังฝังอยู่ตามทุ่งนาบ้าง ตามคันดินบ้าง และเชื่อกันว่าบริเวณบ้านกุดโง้งยังมีโบราณวัตถุอีกมากมายที่ถูกฝังอยู่และยังไม่ได้รับการขุดค้น

Shopping Cart