เขื่อนจุฬาภรณ์

เขื่อนจุฬาภรณ์

เขื่อนจุฬาภรณ์

เขื่อนจุฬาภรณ์ หรือ เขื่อนน้ำพรม ตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ปิดกั้นลำน้ำพรมบนเทือกเขาขุนพาย ลักษณะเขื่อนเป็นเขื่อนหินทิ้ง แกนเป็นดินเหนียว สันเขื่อนยาว 700 เมตร ความสูงจากฐานราก 70 เมตร เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ ใช้ประโยชน์ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า การชลประทาน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด ภายในบริเวณมีบ้านพักรับรองและเรือเช่าล่องชมทิวทัศน์อ่างเก็บน้ำ
ลักษณะเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ
เป็นเขื่อนประเภทหินถม แกนกลางเป็นดินเหนียว บดอัดทับด้วยกรวดและหิน
มีความยาวตามสันเขื่อน ๗๐๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๘ เมตร ฐานกว้าง ๒๕๐ เมตร
ความสูงจากฐานราก ๗๐ เมตร ความจุของอ่างเก็บน้ำ ๑๘๘ ล้านลูกบาศก์เมตร
โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ตรงเชิงเขาใกล้กับลำน้ำสุ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของตัวเขื่อน แล้วชักน้ำหน้าเขื่อนจากฝั่งซ้าย ของลำน้ำ โดยผ่านอุโมงค์ ซึ่งเจาะทะลุภูเขาไปหมุนเครื่องกังหันน้ำ ซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาอีกด้านหนึ่ง ภายในโรงไฟฟ้า ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาด ๒๐,๐๐๐ กิโลวัตต์ จำนวน ๒ ชุด
ลานไกไฟฟ้า ตั้งอยู่บริเวณข้างอาคารโรงไฟฟ้า ติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับระบบสายส่ง ไฟฟ้า ขนาด ๑๑๕ กิโลวัตต์ จากเขื่อนไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูง ชุมแพ-ขอนแก่น ๑ ระยะทาง ๑๓๕ กิโลเมตร
โครงการน้ำพรมได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๒ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๑๓ แล้วเสร็จ สามารถจ่าย ไฟฟ้าได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เป็นต้นมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ไปทรงเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖ พร้อมทั้งได้พระราชทานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ มาขนานนามชื่อเขื่อนว่า “เขื่อนจุฬาภรณ์”
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้สร้างเขื่อนขนาดเล็กชื่อ “เขื่อนพรมธารา” ขึ้นทางฝั่งซ้ายของเขื่อนจุฬาภรณ์ ห่างออกไปประมาณ ๕๐๐ เมตร เพื่อนำน้ำมาลงในอ่างเก็บน้ำจุฬาภรณ์ได้เพิ่มขึ้น ปีละประมาณ ๒ ล้านลูกบาศก์เมตร
เขื่อนจุฬาภรณ์เป็นเขื่อนที่มีความสำคัญมากอีกเขื่อนหนึ่งต่อการ พัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการ ผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยพลังน้ำเฉลี่ยปีละ ๙๕ ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยในบริเวณทุ่งเกษตรสมบูรณ์ ซึ่งอยู่ห่างจากเขื่อนลงไปทางท้ายน้ำประมาณ ๖๐ กิโลเมตร