วิถีชีวิตคนหาปลาบึงละหาน

  • Published

วิถีชีวิตคนหาปลาบึงละหาน

  • Post category:tour-chaiyaphum
วิถีชีวิตคนหาปลาบึงละหาน

วิถีชีวิตคนหาปลาบึงละหาน

บึงละหาน เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติมีเนื้อที่กว้างใหญ่ เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของประเทศไทย18,181 ไร่ เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และยังมีระบบนิเวศที่ดี บึงละหานได้รับเลือกให้เข้าอยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติของไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับนานาชาติ(Ramsar Site)ต่อสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีของอนุสัญญาแรมซาร์(Ramsar Convention) อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในการเป็นถิ่นที่อยู่ของนกน้ำ (The Convention on Wetlands of International Importance, especially as Waterfowl Habitat.) และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 มีมติคณะรัฐมนตรี การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 บึงละหานจึงยังไม่ได้อยู่ในทะเบียนรายชื่อของสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่เพื่อเป็นการอนุรักษ์แหล่งเพาะพันธ์และอนุบาลสัตว์น้ำจึงมีการกำหนดจุดอนุรักษ์จำนวน 2 จุด คือบริเวณศาลเจ้าพ่อหาญคำและบริเวณวิจัยประมงน้ำจืดจังหวัดชัยภูมิ ในฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลเข้ามาจากลำห้วยต่างๆเช่น ห้วยลำคันฉู ห้วยหลัว ห้วยยาง ห้วยตาแก้ว เป็นต้น ทำให้ปริมาณน้ำในหนองเออเข้าหากันรวมเป็นหนองขนาดใหญ่ เรียกว่า บึงละหาน ภายในบริเวณบึงมีเกาะที่เกิดจากน้ำท่วมไม่ถึงซึ่งชาวบ้านเรียกว่าโนน เช่น โนนจาน โนนงิ้ว และน้ำในบึงจะใหลลงแม่น้ำชีในที่สุด เนื่องจากบึงละหานเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่มีระบบกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งน้ำในบึงจึงลดลงมากจนมีสภาพตื้นเขินสามารถนำปศุสัตว์ลงหากินและทำเกษตรได้ในบางพื้นที่ บึงละหานมีอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่และมีน้ำตลอดทั้งปี ทำให้ปลาสามารถอาศัยและขยายพันธุ์ได้ดี พบปลาอย่างน้อย 25 ชนิด ชนิดที่อยู่ในสภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ ปลาดุกด้าน ปลาในวงศ์ปลาตะเพียน พบ 9 ชนิด ปลาในวงศ์ปลาหมอ พบ 3 ชนิด ปลาเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลาสลาด ปลาสูบจุด ปลาตะเพียนขาว ปลาสร้อยขาวปลาสร้อยนกเขา ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน