ประเพณีแห่บุญกระธูป

ประเพณีแห่บุญกระธูป

ประเพณีแห่บุญกระธูป

ในอดีตแต่ก่อนประเพณีออกพรรษา ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกระธูปโดยจะตีเกราะเคาะขอลอให้ชาวบ้านออกไปรวมตัว ณ จุดนัดหมาย (อาจเป็นศาลากลางบ้านหรือบ้านผู้ใหญ่บ้าน) หนุ่มสาวตื่นเต้นมากในการไปพันกระธูป ซึ่งกว่าจะเป็นกระธูปจุดได้ต้องผ่านกระบวนการยาวนานพอสมควรเพราะไม่ใช้กระธูปหรือธูปที่วางขายตามท้องตลาด แต่เกิดมาจากการขยี้เอามาจากกาบมะพร้าวจนร่วงออกมาราวผง แล้วพันด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มอีกทีด้วยกระดาษสีหรือกระดาษหลากสีสัน ก่อนที่จะนำเข้าไปมัดกับดาวก้านตาล (สานจากใบตาลหรือใบลาน) จากนั้นจึงนำไปมัดห้อยกับก้านธูปที่เป็นเสมือนคันเบ็ด ทำไว้มากๆเสร็จแล้วจึงนำเข้าไปเสียบเข้าไปรูรอบปล้องไม้ไผ่ทำเป็นชั้นขึ้นไปเหมือนฉัตร ประดับตกแต่งงดงามก่อนที่จะนำออกมาจุดในวันเวียนเทียนออกพรรษา และในปัจจุบันประเพณีบุญกระธูปได้เป็นอัตลักษณ์ของอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
ความร่มเย็นอันยิ่งใหญ่ของ กระธูป สัญลักษณ์แทนต้นหว้า ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีปถูกบันทึกไว้ในหนังสือฎีกาพระมาลัยสูตร ความว่า ลักษณะของต้นกระธูปมีความยาวประมาณ ๕๐ โยชน์ มีกิ่งใหญ่ ๔ กิ่ง แผ่ออกไปใน ๔ ทิศทาง กว้างเป็นมณฑลได้ ๑๐๐ โยชน์ หมายถึง พระพุทธศาสนานี้ เป็นร่มเย็นแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเอา ต้นกระธูปนี้ จุดแล้วย่อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปยังทิศต่างๆ กลิ่นหอมนี้ ย่อมเป็นที่ชื่นใจแก่มนุษย์ ทั้งปวงที่ได้สัมผัสกลิ่นย่อมเกิดปิติและความสุขความเบิกบาน คุณค่าทางจิตใจประดิษฐ์ขึ้นง่ายๆ จากวัสดุภายในท้องถิ่น ประกอบด้วย ขลุยมะพร้าว ใบอุ้ม ใบเนียม โดยนำใบไม้ทั้ง ๒ ชนิดมานึ่งแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาบดอีกครั้งจะได้ฝุ่นที่มีกลิ่นหอมแล้วจึงนำไปผสมกับขลุยมะพร้าวห่อด้วยกระดาษให้ได้รูปทรงยาวเหมือนธูป นำกระดาษสีมาประดับตกแต่งลวดลายให้สวยงาม ส่วนใหญ่นิยมเป็นลายไทย เช่นเดียวกับลายมัดหมี่ แล้วนำที่มัดติดกันกับดาวซึ่งทำจากใบคันไม้ไผ่ลักษณะคล้ายคันเบ็ดแล้วนำไปเสียบไว้กับแกนไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ความสูงประมาณ ๓-๕ เมตร รูปทรงคล้ายฉัตรก่อนจะนำไปแห่และจุดไฟบูชา พร้อมกันนี้ให้เอาลูกดุมกาลักษณะคล้ายส้มแต่มีเปลือกแข็งมาผ่าเป็น ๒ ซีก ใส่น้ำมันพืชลงไปแล้วควั่นด้ายเป็นรูปตีนกา เพื่อจุดให้แสงสว่างใต้ต้นกระธูป

Shopping Cart