เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว (ทุ่งกะมัง)
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว ตั้งอยู่บนเทือกเขาเพชรบูรณ์ เนื้อที่ 975,000 ไร่ (1,560 กม) ในเขตพื้นที่อำเภอคอนสาร อ.ภูเขียว อ.เกษตรสมบูรณ์ และ อ.หนองบัวแดง เป็นที่ราบบนภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตร เป็นผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด 1 ใน 5 แห่งของประเทศ และเป็นผืนป่าแห่งเดียวของภาคอีสานเป็นที่อยู่อาศัย และแหล่งอาหารของสัตว์ป่าที่สมบูรณ์ที่สุดที่ยังเหลือให้สัตว์ป่าได้อาศัยตามธรรมชาติอย่างปลอดภัย
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จัดตั้งมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ป่าไม้จังหวัดชัยภูมิได้เสนอกรมป่าไม้ให้จัดตั้ง ป่าภูเขียวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติ เนื่องจากป่าภูเขียวซึ่งเป็นป่าโครงการไม้กระยาเลยภูเขียวมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2498 ยังมีสภาพป่าที่สมบูรณ์เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญและมีสัตว์ป่าชุกชุมมาก อีกทั้งมีชาวบ้านเข้าไปยิงกระซู่ได้ 2 ตัวในปี พ.ศ. 2510 และ พ.ศ. 2513 ฝ่ายจัดการสัตว์ป่า กองบำรุง กรมป่าไม้ จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจสภาพป่า สัตว์ป่า และความเหมาะสมต่าง ๆ พบว่ายังมีร่องรอยของกระซู่และสัตว์ป่าอีกหลายชนิด เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง เสือ กวาง เก้ง เลียงผา และนกชนิดต่าง ๆ สภาพป่ายังบริสุทธิ์และอยู่ในขั้นเตรียมการทำไม้ แต่มีราษฎรเข้าไปจับจองบุกรุกแผ้วถางป่าหลายแห่งในบริเวณทุ่งกะมัง ศาลาพรม หนองไรไก่ ภูดิน ปางม่วง และซำเตย และเตรียมที่จะบุกรุกเพิ่มมากขึ้น ในขณะนั้นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายังไม่เป็นที่รู้จักและมีเพียงแห่งเดียวคือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี จึงทำการดำเนินการประกาศป่าภูเขียวให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นไปด้วยความลำบาก จนกระทั่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าจนบรรลุผลสำเร็จโดยประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 154 ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2515 ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 89 ตอนที่ 82 วันที่ 26 พฤษภาคม 2515 ให้ป่าภูเขียวเนื้อที่ 883,125 ไร่ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2519 คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้มีมติให้ประกาศป่าภูเขียวเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นครั้งที่ 2 ควบคุมพื้นที่เพิ่มเติมเป็น 975,000 ไร่ ในปี 2526 มีการเตรียมการรับเสด็จและสร้างสำนักงานส่วนกลางทุ่งกะมังเป็นไปด้วยความรวดเร็ว การก่อสร้างหน่วยพิทักษ์ป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ล่อแหลมต่อการบุกรุกทำลายหลายแห่ง ผลของการจัดฝึกอบรมเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทำให้งานป้องกันของป่าภูเขียวอยู่ในสภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินประทับแรมที่ทุ่งกะมังเมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม 2526 และทรงตรวจเยี่ยมงานตามโครงการพระราชดำริในลักษณะต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการ ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงปล่อยสัตว์ป่า ณ ทุ่งกะมัง และเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่มาถวายสัตย์ปฏิญาณตนที่จะไม่เข้าป่าล่าสัตว์ในป่าภูเขียวอีก พร้อมกับน้อมเกล้าฯ ถวายปืนล่าสัตว์จำนวนกว่า 1,200
ทุ่งกระมัง เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ใจกลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว แหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์กินพืช เมื่อปี พ.ศ. 2526 และ พ.ศ. 2535โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ปล่อยสัตว์ป่าคืนถิ่นในบริเวณนี้ เช่น เก้ง กวาง กระจง และนกต่าง ๆ มีการจัดทำดินโป่งในบริเวณทุ่งกะมังเพื่อให้สัตว์มากินดินโป่งและเผาแปลงทุ่งหญ้าเพื่อให้เกิดหญ้าระบัดเป็นอาหารของเก้ง กวางในช่วงฤดูแล้ง บนยอดเนินเหนือบริเวณทุ่งกะมัง มีพระตำหนักที่ประทับอยู่เหนืออ่างน้ำ ทุ่งกระมังเปิดให้เข้าชมเวลา 08.00–15.00 น. และจะไม่เปิดให้เข้าทัศนศึกษาตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมเป็นเวลา 3 เดือน เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่อุดมไปด้วยป่าไม้และสัตว์ป่า การเดินทางเข้ามาในพื้นที่ก็เสมือนการเข้ามารบกวนธรรมชาติ ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าจริง ๆ