ลิเกพระราชทานถวายเจ้าพ่อพระยาแล

ลิเกพระราชทานถวายเจ้าพ่อพระยาแล

ลิเกพระราชทานถวายเจ้าพ่อพระยาแล

ทุกปีในช่วงประเพณีบุญเดือนหกของจังหวัดชัยภูมินั้น ภายในบริเวณศาลเจ้าพ่อพระยาแล อดีตเจ้าเมืองที่เป็นที่เคารพสักการะของชาวชัยภูมิ จะมีการจ้างลิเกพระราชทาน เช่น คณะสิงห์เสงี่ยม เป็นต้น รวมถึงคณะอื่นๆ ที่ล้วนมีฝีมือในการแสดงลิเกอันสวยงามยิ่ง มาจัดแสดงถวายเป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมการละเล่นของไทยที่นับวันจะสูญหายไปตามกาลเวลาขึ้นทุกที ในการเข้าชมนั้น ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และช่างภาพสามารถขอขึ้นไปถ่ายภาพช่วงการแต่งหน้าหลังเวลทีก่อนการแสดงได้ด้วย

หอพญาแล

หอพญาแล

หอพญาแล

หอพญาแลเป็นสิ่งก่อสร้างสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนแยกวัดชัยประสิทธิ์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการก่อสร้างที่ได้รับงบประมาณจัดสรรจากรัฐบาลที่ได้ประกาศยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไว้ 3 ประการ คือ การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม และการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งในปี 2558 ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ดังนั้นจังหวัดชัยภูมิจึงได้จัดทำแผนพัฒนาเมืองชัยภูมิ ในระยะ 12 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2567 เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และขยายโอกาสการพัฒนาสู่การลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดชัยภูมิ อันจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวชัยภูมิ หอพญาแลเป็นหอนาฬิกาขนาดสูง 16 เมตร ซึ่งออกแบบโดย อ.สมาน คลังจัตุรัส ศิลปินเอกครูช่างชาวชัยภูมิ เป็นอาจารย์ประจำแผนกช่างวาดภาพสีน้ำมันของศูนย์ศิลปาชีพพิเศษบางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อออกแบบให้เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดและเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวชมและถ่ายรูปเป็นที่ระลึก แต่ภายหลังได้รับการเปลี่ยนแปลงแบบและก่อสร้างกลายเป็นรูปแบบดังแสดงในภาพ

สวนสัตว์สตาร์ไทเกอร์

สวนสัตว์สตาร์ไทเกอร์

สวนสัตว์สตาร์ไทเกอร์

สวนสัตว์ชัยภูมิ สตาร์ไทเกอร์ สวนสัตว์แห่งแรกและแห่งเดียวของชัยภูมิ ที่ลงทุนโดยคนชัยภูมิเพื่อคนชัยภูมิจะได้สัมผัสและเรียนรู้ถึงพฤติกรรมของสัตว์ป่านานาชนิด ซึ่งหาชมได้ยาก เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่ 09.00 – 17.00 น. ที่ตั้งของสวนสัตว์ชัยภูมิ สตาร์ ไทเกอร์ อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดไปแค่ 8 กิโลเมตรเท่านั้น ออกจากตัวเมืองไปทางอำเภอหนองบัวแดง วิ่งไปตามถนนสายชัยภูมิ- ตาดโตน เลี้ยวซ้ายไปทางหนองบัวแดง สัตว์ที่เป็นพระเอกของที่นี้ได้แก่ สัตว์ขาวทั้งเจ็ดชนิดที่หายากๆ อย่าง เสือโคร่งขาว สิงโตขาว นกยูงขาว แรคคูนขาว เป็ดแมนดารินขาว กระรอกขาว หงส์ขาว เป็นต้น

งานจักสานชัยภูมิ

งานจักสานชัยภูมิ

งานจักสานชัยภูมิ

งานหัตถกรรมจักสานถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ในปัจจุบันงานหัตถกรรมจักสานของผู้สูงอายุในหมู่บ้านเขวา ต.บ้านบัว อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ได้มีการประยุกต์และพัฒนาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้หลากหลายรูปแบบ อาทิ ตะกร้า กระจาด กระติบข้าวเหนียว เครื่องมือหาปลา ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีความโดดเด่นด้านความประณีตสวยงาม จนได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อความเจริญทางด้านเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ทำให้งานศิลปที่ถือได้ว่าเป็นวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาไทยค่อยๆถูกลืมเลือน ถูกกลืนโดยวัฒนธรรมใหม่ที่เข้ามาพร้อมเครื่องจักรและค่านิยมที่ไม่เหมือนเดิม หลงเหลือเพียงผู้สูงอายุที่ยังคงสืบสานภูมิปัญญาเอาไว้
การรวมกลุ่มผู้สูงอายุบ้านเขวาผลิตเครื่องจักสานจากไม้ไผ่ นายสถิต นามโคตร อายุ 62 ปี ประธานกลุ่มผู้สูงอายุบ้านเขวาผลิตเครื่องจักรสาน กล่าวว่า ชาวบ้านเขวามีอาชีพทำไร่ทำนา และหลังจากว่างงานก็จะผลิตเครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นภาชนะ ที่มีเอกลักษณ์เป็นของท้องถิ่นเกิดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านที่คนไทยได้สืบทอดกันมานาน และแพร่หลายในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน โดยใช้ไม้ไผ่จากหัวไร่ปลายนาของสมาชิก ซึ่งการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุริเริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2553 ปัจจุบันสมาชิกจำนวน 11 คน ทุกคนจะมีความสามารถในการจักสานมายาวนานกว่า 40 ปี และผู้สูงอายุทุกคนจะแบ่งแยกหน้าที่กันทำ หากเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-65 ปี ก็จะไปตัดไม้ไผ่ และแบกไม้ไผ่มาให้ ส่วนที่เหลือก็จะทำการผ่า และทำให้เป็นเส้น เป็นแฉก หรือเป็นริ้วเพื่อความสะดวกในการสาน สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ผู้สูงอายุบ้านเขวาผลิตออกมานั้นจะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่ ซึ่งราคาของผลิตภัณฑ์เริ่มตั้งแต่ 50 -2,000 บาท ซึ่งรายได้จากการขายก็จะหักส่วนหนึ่งเป็นค่าต้นทุนในการเพาะกล้าไม้ไผ่เพื่อนำมาปลูกทดแทน ไม้ไผ่ที่ถูกตัดไป และจะเป็นการลดต้นทุนวัตถุดิบ
เครื่องจักสานที่ผู้สูงอายุทำขึ้นนั้นจะมีหลากหลายชนิด ได้แก่ กระบุง กระจาด กระทาย กระบา กระทอ กระพ้อม กระเชอ กระเช้า กระพอก ชะลอม ตะกร้อ ปุ้งกี๋ หลัว ตะกร้า เข่ง เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องตวง ได้แก่กระชุ สัด กระบุง เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้ในครัวเรือน ได้แก่พัด กระชอน ตะแกรง ฝาชี กระด้ง หวด เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องประกอบอาคารบ้านเรือน ได้แก่ ฝาบ้าน พื้นบ้าน โต๊ะ เก้าอี้ และเครื่องจักสานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องจับดักสัตว์และขังสัตว์น้ำ ได้แก่ ชนาง ลอบ สุ่ม ไซ กระบัง กระจู้ กระชัง ตะข้อง ตะแกรง จั่น ฯลฯ
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องจักรสานที่ผลิตขึ้นมานั้นแต่ละวันสามารถขายสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มเฉลี่ยต่อคนไม่ต่ำกว่าวันละ 50 บาท ซึ่งหากมีลูกค้าสั่งสินค้าเข้ามามากก็จะมีรายได้ถึงคนละ 100 -200 บาทต่อวัน ถือว่าเป็นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีรายได้พอเลี้ยงชีพในยามแก่ชรา

วิถีชีวิตคนหาปลาบึงละหาน

วิถีชีวิตคนหาปลาบึงละหาน

วิถีชีวิตคนหาปลาบึงละหาน

บึงละหาน เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติมีเนื้อที่กว้างใหญ่ เป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของประเทศไทย18,181 ไร่ เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และยังมีระบบนิเวศที่ดี บึงละหานได้รับเลือกให้เข้าอยู่ในทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติของไทย ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 เรื่อง ทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและระดับชาติของประเทศไทย และมาตรการการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อเสนอขอขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญระดับนานาชาติ(Ramsar Site)ต่อสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกภาคีของอนุสัญญาแรมซาร์(Ramsar Convention) อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในการเป็นถิ่นที่อยู่ของนกน้ำ (The Convention on Wetlands of International Importance, especially as Waterfowl Habitat.) และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 มีมติคณะรัฐมนตรี การทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 บึงละหานจึงยังไม่ได้อยู่ในทะเบียนรายชื่อของสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่เพื่อเป็นการอนุรักษ์แหล่งเพาะพันธ์และอนุบาลสัตว์น้ำจึงมีการกำหนดจุดอนุรักษ์จำนวน 2 จุด คือบริเวณศาลเจ้าพ่อหาญคำและบริเวณวิจัยประมงน้ำจืดจังหวัดชัยภูมิ ในฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลเข้ามาจากลำห้วยต่างๆเช่น ห้วยลำคันฉู ห้วยหลัว ห้วยยาง ห้วยตาแก้ว เป็นต้น ทำให้ปริมาณน้ำในหนองเออเข้าหากันรวมเป็นหนองขนาดใหญ่ เรียกว่า บึงละหาน ภายในบริเวณบึงมีเกาะที่เกิดจากน้ำท่วมไม่ถึงซึ่งชาวบ้านเรียกว่าโนน เช่น โนนจาน โนนงิ้ว และน้ำในบึงจะใหลลงแม่น้ำชีในที่สุด เนื่องจากบึงละหานเป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่มีระบบกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งน้ำในบึงจึงลดลงมากจนมีสภาพตื้นเขินสามารถนำปศุสัตว์ลงหากินและทำเกษตรได้ในบางพื้นที่ บึงละหานมีอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่และมีน้ำตลอดทั้งปี ทำให้ปลาสามารถอาศัยและขยายพันธุ์ได้ดี พบปลาอย่างน้อย 25 ชนิด ชนิดที่อยู่ในสภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ ปลาดุกด้าน ปลาในวงศ์ปลาตะเพียน พบ 9 ชนิด ปลาในวงศ์ปลาหมอ พบ 3 ชนิด ปลาเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลาสลาด ปลาสูบจุด ปลาตะเพียนขาว ปลาสร้อยขาวปลาสร้อยนกเขา ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาช่อน

วิถีวัยรุ่นกับช่วงน้ำหลาก บึงละหาน

วิถีวัยรุ่นกับช่วงน้ำหลาก บึงละหาน

วิถีวัยรุ่นกับช่วงน้ำหลาก บึงละหาน

ในช่วงเวลาประมาณเดือนกันยายนถึงพฤศิกายนของทุกปี เป็นช่วงฤดูน้ำหลากจากการสะสมในฤดูฝนที่ผ่านมาหลายเดือนในแต่ละปี ในชัยภูมิจะมีพื้นที่รับน้ำที่ใหญ่ที่สุดคือบึงละหาน ทุกปีเมื่อถึงช่วงเวลาดังกล่าว บึงละหานจะมีน้ำหลากเข้าบึงเป็นปริมาณมาก ประกอบกับได้รับน้ำจากแม่น้ำชีที่อยู่ใกล้กันอีกด้วย ทำให้วิถีชีวิตการประมงจับปลาเพิ่มจำนวนมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ ชาวบ้านวัยรุ่นและเด็กๆ ทั้งหลายก็จะติดตามพ่อแม่ที่มาหาปลา ออกมาเล่นน้ำบริเวณริมบึงละหานกันเป็นจำนวนมากทุกวันอย่างสนุกสนาน

ชุมชนทำเตาอุดมสุข

ชุมชนทำเตาอุดมสุข

ชุมชนทำเตาอุดมสุข

ชุมชนทำเตาอุดมสุข บ้านเมืองน้อยเหนือ ตำบลในเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นชุมชนที่ชาวบ้านยึดอาชีพอุตสาหกรรมการทำเตาดินเผาส่งขายกันมานาน เป็นวิถีชีวิตเก่าแก่ของชุมชนที่ยังรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน เครื่องปั้นดินเผาที่ทำก็จะมีเตาถ่าน กระถางดอกไม้ ตุ๊กตาดินเผา เป็นต้น ชาวบ้านเมืองน้อยเหนือ-ใต้ รู้จักการนำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นภาชนะเครื่องใช้ ตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งอพยพมาจาก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ปี 09 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแนะนำให้ราษฎรรวมกลุ่ม ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมีสมาชิก 60 คน ในปี 28 สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองชัยภูมิ ได้มีบทบาทส่งเสริมรูปแบบการดำเนินงานกลุ่มชัดเจนขึ้น โดยอบรมการบริหารจัดการ การจัดหาทุน ปัจจุบันมีสมาชิก 243 คน กรรมการ 13 คน สภาพการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มอย่างเหนียวแน่น เป็นปึกแผ่นเนื่องจากสมาชิกได้ทำงานในรูปแบบกลุ่มเป็นระยะเวลานาน สมาชิกปฏิบัติตามกติกากลุ่มทุกคนโดยการจำหน่ายสินค้าขนาดรูปร่าง ราคาเดียวกัน รับผิดชอบเงินกองทุนร่วมกัน
ในอดีตเมื่อ 90 ปีที่แล้ว ชาวบ้านเมืองน้อย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ได้อพยพมาจากจังหวัดนคราชสีมาแล้วนำความรู้ด้านเครื่องปั้นดินเผาที่มีมาตั้งแต่โบราณติดตัวมาด้วย ประกอบอาชีพปั้นเตาดิน เพื่อนำไปแลกข้าวเปลือกมาขาย และเก็บไว้รับประทาน โดยมีการสืบทอดอาชีพปั้นเตาดินมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังคงสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวเมืองน้อยที่ยึดอาชีพนี้กว่า 200 ครอบครัว เตาดินที่ส่งขาย จะมีราคาขายส่งเริ่มต้นใบละ 55 บาท จนไปถึง 150 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของเตา ขายปลีกใบละ 80 บาท ถึง 200 บาท ช่วงนี้แดดออกดี มีการปั้นเตาส่งขายอย่างน้อยวันละ 100 ใบ สามารถสร้างรายได้ให้กับลูกทีมที่ปั้นเตาอย่างน้อยวันละ 300 – 400 บาท ทำให้ในแต่ละเดือนมีรายได้เลี้ยงครอบครัว แบบที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น นางปราณี จุลชีพ เป็นอีกหนึ่งคนที่เริ่มปั้นเตาดินตั้งแต่จำความได้ เธอบอกว่า เรียนรู้การปั้นเตาดินแบบดั้งเดิมมาจากพ่อ โดยใช้มือปั้นดินขึ้นรูปให้เป็นเตา แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง ก่อนจะนำไปเผากับเตาแกลบ จากนั้นจะนำไปตกแต่งใช้ถังสังกะสีหุ้มตัวเตา แล้วแต่งให้สวยงามอีกครั้ง ก่อนจะนำส่งออกไปขาย

ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ

ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ

ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ

อาคารศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เป็นอาคารทรงสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ที่มีความสวยงาม และโดดเด่น เป็นสำนักงานจังหวัดชัยภูมิที่เป็นศูนย์กลางหน่วยงานราชการของจังหวัดชัยภูมิ สถานที่ตั้งอยู่บริเวณวงเวียนอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล จังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ด้านหน้าอาคารทางทิศใต้เป็นสถานที่ที่ใช้สำหรับจัดกิจกรรมอันสำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพิธีการทางราชการ พิธีการทางพระพุทธศาสนา จัดกิจกรรมระดับจังหวัดต่างๆ มากมาย และล่าสุดเป็นสถานที่จัดกิจกรรมแปรอักษรถวายความอาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หากผู้สัญจรผ่านเข้ามาในเมืองชัยภูมิโดยส่วนใหญ่จะต้องผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล จากจุดนั้นจะมองเห็นอาคารศาลากลางจังหวัดชัยภูมิสวยงามและโดดเด่นเป็นสง่า กลางคืนมีการเปิดไฟสวยงาม น่าถ่ายภาพเป็นอย่างมากครับ
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังไม่มีการจัดตั้งจังหวัดชัยภูมิขึ้นเป็นทางการ บริเวณจังหวัดชัยภูมิประกอบไปด้วยเมืองใหญ่ 3 เมือง คือ เมืองชัยภูมิ, เมืองภูเขียว และเมืองสี่มุม (จัตุรัส) ในปี พ.ศ. 2440 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองราชอาณาจักร โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานเดียว เมืองในจังหวัดชัยภูมิ จึงเข้าอยู่ในมณฑลนครราชสีมา ต่อมาในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองประเทศครั้งใหญ่ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกเขตการปกครองแบบ “เมือง” ทั่วราชอาณาจักร แล้วตั้งขึ้นเป็น “จังหวัด” แทน เมืองชัยภูมิ, เมืองภูเขียว และเมืองสี่มุม (จัตุรัส) จึงรวมกันกลายเป็นจังหวัดชัยภูมิ โดยใช้บริเวณเมืองชัยภูมิจัดตั้งเป็นอำเภอเมืองชัยภูมิยกฐานะเป็นศูนย์กลางของจังหวัด เมืองชัยภูมิยุบเป็นอำเภอเมืองชัยภูมิก่อนที่จะแยกออกเป็นอำเภอคอนสวรรค์ และอำเภอบ้านเขว้า เมืองภูเขียวยุบเป็นอำเภอภูเขียว ก่อนที่จะแยกออกเป็นอำเภอเกษตรสมบูรณ์, อำเภอคอนสาร, อำเภอแก้งคร้อ, อำเภอบ้านแท่น, อำเภอหนองบัวแดง และอำเภอภักดีชุมพล เมืองสี่มุมยุบเป็นอำเภอจัตุรัส ก่อนที่จะแยกออกเป็นอำเภอบำเหน็จณรงค์, อำเภอเทพสถิต, อำเภอหนองบัวระเหว, อำเภอเนินสง่า และอำเภอซับใหญ่ ปัจจุบัน มีนายชูศักดิ์ ตรีสาร เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิตั้งแต่ พ.ศ.2558 เป็นต้นมา

ตลาดสดเทศบาลเมืองชัยภูมิ

ตลาดสดเทศบาลเมืองชัยภูมิ

ตลาดสดเทศบาลเมืองชัยภูมิ

สำหรับใครที่สัญจรผ่านมาที่ชัยภูมินั้น ในตอนเช้าตรู่ของทุกวัน ตลาดสดเทศบาลชัยภูมิจะเปิดให้จับจ่ายซื้อของได้ทุกวันไม่มีวันหยุดครับ เสน่ห์ของตลาดสดเทศบาลชัยภูมิสำหรับช่างภาพทั่วไปแล้ว คือ การเดินถ่ายภาพแบบ Street Photography เนื่องจาก ภายในอาคารตลาดสด ยังมีความเป็นอาคารเก่าแก่จากอดีตหลายสิบปี และยังมีสิ่งที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น มีการเผาขนหัวหมูแบบดั้งเดิมโดยใช้ไฟจากแก็ส เป็นต้น นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการรับประทานก๋วยจั๊บเป็นมื้อเช้า ภายในตลาดสดจะมีร้านก๋วยจั๊บเจ๊ฮุนที่มีชื่อเสียง รสชาติอร่อย มีให้ชาวชัยภูมิรวมถึงนักท่องเที่ยวได้มาลิ้มลองกัน