ชุมชนทำเตาอุดมสุข
ชุมชนทำเตาอุดมสุข บ้านเมืองน้อยเหนือ ตำบลในเมือง จังหวัดชัยภูมิ เป็นชุมชนที่ชาวบ้านยึดอาชีพอุตสาหกรรมการทำเตาดินเผาส่งขายกันมานาน เป็นวิถีชีวิตเก่าแก่ของชุมชนที่ยังรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน เครื่องปั้นดินเผาที่ทำก็จะมีเตาถ่าน กระถางดอกไม้ ตุ๊กตาดินเผา เป็นต้น ชาวบ้านเมืองน้อยเหนือ-ใต้ รู้จักการนำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นภาชนะเครื่องใช้ ตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งอพยพมาจาก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ปี 09 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมแนะนำให้ราษฎรรวมกลุ่ม ก่อตั้งกลุ่มขึ้นมีสมาชิก 60 คน ในปี 28 สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองชัยภูมิ ได้มีบทบาทส่งเสริมรูปแบบการดำเนินงานกลุ่มชัดเจนขึ้น โดยอบรมการบริหารจัดการ การจัดหาทุน ปัจจุบันมีสมาชิก 243 คน กรรมการ 13 คน สภาพการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มอย่างเหนียวแน่น เป็นปึกแผ่นเนื่องจากสมาชิกได้ทำงานในรูปแบบกลุ่มเป็นระยะเวลานาน สมาชิกปฏิบัติตามกติกากลุ่มทุกคนโดยการจำหน่ายสินค้าขนาดรูปร่าง ราคาเดียวกัน รับผิดชอบเงินกองทุนร่วมกัน
ในอดีตเมื่อ 90 ปีที่แล้ว ชาวบ้านเมืองน้อย อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ได้อพยพมาจากจังหวัดนคราชสีมาแล้วนำความรู้ด้านเครื่องปั้นดินเผาที่มีมาตั้งแต่โบราณติดตัวมาด้วย ประกอบอาชีพปั้นเตาดิน เพื่อนำไปแลกข้าวเปลือกมาขาย และเก็บไว้รับประทาน โดยมีการสืบทอดอาชีพปั้นเตาดินมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งยังคงสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวเมืองน้อยที่ยึดอาชีพนี้กว่า 200 ครอบครัว เตาดินที่ส่งขาย จะมีราคาขายส่งเริ่มต้นใบละ 55 บาท จนไปถึง 150 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของเตา ขายปลีกใบละ 80 บาท ถึง 200 บาท ช่วงนี้แดดออกดี มีการปั้นเตาส่งขายอย่างน้อยวันละ 100 ใบ สามารถสร้างรายได้ให้กับลูกทีมที่ปั้นเตาอย่างน้อยวันละ 300 – 400 บาท ทำให้ในแต่ละเดือนมีรายได้เลี้ยงครอบครัว แบบที่ไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างถิ่น นางปราณี จุลชีพ เป็นอีกหนึ่งคนที่เริ่มปั้นเตาดินตั้งแต่จำความได้ เธอบอกว่า เรียนรู้การปั้นเตาดินแบบดั้งเดิมมาจากพ่อ โดยใช้มือปั้นดินขึ้นรูปให้เป็นเตา แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง ก่อนจะนำไปเผากับเตาแกลบ จากนั้นจะนำไปตกแต่งใช้ถังสังกะสีหุ้มตัวเตา แล้วแต่งให้สวยงามอีกครั้ง ก่อนจะนำส่งออกไปขาย