การแกะเทียนพรรษาจังหวัดชัยภูมิ

การแกะเทียนพรรษาจังหวัดชัยภูมิ

การแกะเทียนพรรษาจังหวัดชัยภูมิ

ในช่วงประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาของทุกปี จะมีการแกะเทียนพรรษาประกวดรถเทียนกันในหลายจังหวัดในภาคอีสาน ที่มีชื่อเสียงมาก เช่น จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น ในส่วนของชัยภูมิ ก็มีการจัดให้มีการแกะเทียนพรรษาประดับรถเพื่อแห่ในขบวนแห่เทียนพรรษาระดับจังหวัดทุกๆ ปีอย่างสวยงาม แม้จะไม่ยิ่งใหญ่เท่าสองจังหวัดดังกล่าว แต่ก็มีความสวยงามมาก ในภาพจะเป็นภาพรถเทียนพรรษาของวัดบ้านหนองหลอด

ประเพณีแห่นาคโหด

ประเพณีแห่นาคโหด

ประเพณีแห่นาคโหด

ประเพณีแห่นาคโหด ที่บ้านโนนเสลาถือเป็นประเพณีโบราณและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปีหลายชั่วคนที่มีแห่งเดียวในโลก เพื่อที่ชาวบ้านจะได้มาร่วมกันจัดงานอุปสมบทหมู่ให้กับคนหนุ่มบุตรหลานในหมู่บ้านที่มีอายุครบ 20 ปี ถือเป็นวันขึ้น 1 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ของเดือนหกเป็นประจำทุกปีเพื่อให้ลูกหลานได้บวชแทนคุณบิดามารดา ด้วยความตั้งใจของผู้ประสงค์จะบวชเอง ซึ่งจะมีการเตรียมตัวมาตั้งแต่เดือนสี่ ผู้เป็นบิดาจะพาบุตรชายไปฝากไว้กับเจ้าอาวาส ใน 2 วัดของหมู่บ้านโนนเสลา คือวัดบุญถนอมพัฒนาราม(วัดนอก) และวัดตาแขก(วัดใน) เพื่อถือขัน 5 ประกอบด้วยเทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ ไปฝากตัวเป็นนาคปฏิบัติธรรมถือศีล 8 อยู่ที่วัด เรียนรู้บทสวดที่จะบวช และเรียนรู้พระธรรมวินัยเบื้องต้น ก่อนถึงกำหนดวันบวชของประเพณีงานบุญเดือนหกซึ่งถือว่าวันแห่นาคโหด จะเป็นวันสำคัญในการที่ประชาชนทุกคนในหมู่บ้านจะต้องออกมามีร่วมรวมแห่นาคเข้าวัด ที่เป็นตำนานของประเพณีแห่นาคแบบแปลกประหลาดและโหดที่สุด ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน โดยจะใช้คนหนุ่มที่ยังไม่ได้บวชของแต่ละหมู่บ้านที่มีรุ่นพี่บวช มาช่วยกันหามแข้ไม้ไผ่ แห่นาคไปรอบหมู่บ้าน และเขย่า โยนนาค อย่างรุนแรง เพื่อความสนุกสนาน และถือเป็นการทดสอบความตั้งใจว่าผู้บวชจะมีความมุ่งมั่นอดทนจริงจังที่จะบวชแทนคุณบิดามารดา หรือไม่ ที่จะต้องประคองตัวเองคือผู้ที่จะบวชไม่ให้ตกลงมาจากแข้ไม้ไผ่หามให้ได้ เพราะถ้าใครตกลงมาถูกพื้นดินจะถือว่าขาดคุณสมบัติไม่ให้บวช ในตลอดระยะเส้นทางแห่รอบหมู่บ้านก่อนเข้าวัดทำพิธีบวช ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตรให้ได้ ซึ่งตั้งแต่ที่มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างจริงจังมากขึ้นตั้งแต่ปี 2514 มาจนวันนี้ ถือว่ายังไม่มีผู้ใดที่ตกลงมาถูกดินและสามารถเข้าพิธีบวชได้ทุกราย ถึงแม้จะมีการได้รับบาดเจ็บถึงขั้นศรีษะแตกและแขนหลุดบ้างก็มี
ประเพณีแห่นาคโหด ชาวบ้านโนนเสลาถือเป็นงานประจำปีปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งผู้บวชเองที่เข้าร่วมพิธีเอง ถือว่าถ้าไม่โหดก็ไม่บวช และทาง อบต.หนองตูม เองก็เข้ามาช่วยส่งเสริมก็ถือเป็นเรื่องที่ดีที่ชาวบ้านเห็นร่วมกัน ด้านนางกองเวิน เข็มภูเขียว วัย 63 ปี ราษฎรอาวุโสที่ชาวบ้านโนนเสลา ให้ความเคารพจำนวนมาก กล่าวว่า การแห่นาคโหด ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นประเพณีนี้แล้ว ซึ่งปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ถือกันว่าถ้าแห่นาคไม่โหดก็จะไม่บวชกัน เป็นอย่างนี้มาตลอดทุกปีช่วงเทศกาลอุปสมบทหมู่ประจำหมู่บ้านในเดือนหก ของทุกปี
คนรุ่นหนุ่มสมัยอดีต จะถือเป็นการปฏิบัติต่อกันรุ่นต่อรุ่นนั้นรุ่นนี้แห่กัน คนหามโหด เมื่อมาเจอคิวบวชของตนเองรุ่นน้องก็โหดต่อกันมาเรื่อยๆเป็นรุ่นๆกันไป ตามประสาคนหนุ่มในหมู่บ้านขณะที่นายสนิท ศรีบุดดา ไวยาวัจกรวัดตาแขก กล่าวว่า การจัดอุปสมบทหมู่ของหมู่บ้านจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี หรือแห่นาคโหด ถือว่าเป็นการสะท้อนถึงความอดทน กลั้นของผู้ที่จะเข้าบวชแทนคุณบิดามารดาที่ให้กำเนิดมา และชาวบ้านที่นี่อยากให้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังสืบทอดต่อไป เป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจจะมีการมองว่ามีความรุนแรง แต่ชาวบ้านคนหนุ่มที่นี่ กลับมองว่าเพื่อการแสดงถึงความกตัญญูกตเวที ต่อบิดามารดา การได้รู้จักการอดกลั้นความตั้งใจของผู้บวชเองมากกว่า

บุญผะเหวด

ประเพณีบุญผะเหวด

ประเพณีบุญผะเหวด

บุณผะเหวด หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า บุญมหาชาติ เป็นประเพณีบุญตามฮีตสิบสอง ของชาวอีสาน แต่ถ้าถือเป็นเรื่องทาน ก็เป็นประเพณีการบริจาคทานครั้งยิ่งใหญ่ ก็พอจะอนุมานได้ถึงสภาพทั่วไป ของชาวอีสานว่า ดอกจิก ดอกจาน บานราวต้นเดือน ๓ พุทธศาสนิกชนจะเก็บดอกไม้เหล่านี้ มาร้อยเป็นมาลัยเพื่อตกแต่งศาลาการเปรียญสำหรับบุญมหาชาติและในงานนี้ก็จะมีการเทศน์มหาชาติ ซึ่งถือว่าเป็นงานอันศักดิ์สิทธิผู้ใดฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียว และบำเพ็ญคุณงามความดี จะได้อานิสงส์ไปเกิดในภพหน้า
ชาวอีสาน จะจัดทำบุญผะเหวด ปีละ ๑ ครั้ง ระหว่างเดือน ๓ เดือน ๔ ไปจนถึงกลางเดือน ๕ โดยจะมีวันรวมตามภาษาอีสาน เรียกว่า วันโฮมบุญ พุทธศาสนิกชนมาช่วยกันจัดตกแต่งศาลาหรือสถานที่ที่จะทำบุญ จัดเตรียมเครื่องสักการะ ดอกไม้ ธูปเทียน ข้าวตอก อย่างละพันก้อน มีการตั้งธงใหญ่ ไว้แปดทิศ และมีศาลเล็กๆ เป็นที่เก็บข้าวพันก้อน และเครื่องคาวหวาน สำหรับ ผี เปรต และมารรอบๆ ศาลาการเปรียญจะแขวนผ้าผะเหวด เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร ตั้งแต่กัณฑ์ที่ ๑ ถึงกัณฑ์สุดท้าย การจัดงานบุญผะเหวด หรือ งานเทศน์มหาชาตินิยมที่อัญเชิญพระอุปคุต มาปกป้องคุ้มครองมิให้เกิดเหตุเภทภัยอันตรายทั้งปวง และให้โชค ลาภแก่พุทธศาสนิกชนในการทำบุญมหาชาติ จึงมีการแห่พระอุปคุต ซึ่งสมมุติว่า อัญเชิญมาจาก สะดือทะเล
บุญผะเหวด หรืองานบุญมหาชาติ คืองานมหากุศล ให้รำลึกถึงการบำเพ็ญบุญ คือ ความดีที่ยิ่งยวด อันมีการสละความเห็นแก่ตัวเพื่อผลคือ ประโยชน์สุขอันไพศาลของมวลชนมนุษย์ชาติ เป็นสำคัญ ดังนั้น บรรพชนชาวไทยอีสานแต่โบราณ จึงถือเป็นเทศกาลที่ประชาชนทั้งหลายพึงสนใจร่วมกระทำบำเพ็ญ และได้อนุรักษ์สืบทอดเป็นวัฒนธรรมสืบมา จนถึงอนุชนรุ่นหลังที่ควรเห็นคุณค่าและอนุรักษ์เป็นวัฒนธรรมสืบไป

ประเพณีแห่บุญออกพรรษา

ประเพณีแห่บุญออกพรรษา

ประเพณีแห่บุญออกพรรษา

วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ เป็นวันที่พระภิกษุพ้นข้อกำหนดทางวินัยที่จะอยู่จำพรรษา นับตั้งแต่วันเข้าพรรษาเป็นต้นมา และสามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้ ซึ่งจะมีประเพณีที่เกี่ยวข้อง คือ การตักบาตรเทโวโรหนะ คือวันถัดจากวันออกพรรษา ๑ วัน ซึ่งพุทธศาสนิกชนมักจะตักบาตรในวันนี้ ด้วยนิยมว่าเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จไปโปรดพุทธมารดาอยู่ ๓ เดือน และถัดจากออกพรรษา ๑ เดือน ถือเป็น เทศกาลกฐิน ที่จะทำบุญถวายผ้ากฐินตามวัดต่าง ๆ เมื่อเทศกาลเข้าพรรษาได้ผ่านพ้นไปถึง ๓ เดือน ก็จะเป็นช่วงเวลาของ “วันออกพรรษา” ซึ่งถือเป็นการสิ้นสุดระยะการจำพรรษา หรือออกจากการอยู่ประจำที่วัดในช่วงฤดูฝนตลอด ๓ เดือนของพระภิกษุสงฆ์ โดย วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า “วันมหาปวารนา”
เดิมประเพณีนี้เป็นประเพณีของไทยอีสานดั้งเดิมซึ่งสืบทอดกันมาเป็นเวลานานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย และเป็นประเพณีที่สำคัญประเพณีหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล โดยมีความเชื่อตามพุทธประวัติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในระหว่างเข้าพรรษาและได้เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ในวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนต่างปิติยินดีในจริยวัตรของพระพุทธองค์ จึงได้ปฏิบัติกิจกรรมไต้ประทีปโคมไฟ โดยที่ประชาชนตลอดจนภิกษุสามเณรต่างพากันจุดประทีปโคมไฟ เพื่อเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่สมัยนั้นโคมไฟไม่ค่อยจะมีใช้ ต้องใช้ลูกตูมกา ลูกฟักเหลือง ลูกส้มโอโต ๆ มาควักเอาเมล็ดในออกให้หมด ขูดผิวข้างนอกและเยื่อข้างในออกให้บางโปร่ง แล้วนำน้ำมันที่ทำมาจากเมล็ดมะเยา หมากบก หรือน้ำมันมะพร้าวเทลง ฟั่นฝ้ายเป็นรูปตีนกาเอามาทำไส้ วางไว้ตรงกลางสำหรับจุดลอยอยู่นั้น พร้อมทั้งมีหูหิ้วสำหรับแขวนบนต้นไม้ต่าง ๆ ในภาพนี้เป็นการปล่อยโคมของพระสงฆ์และฆราวาสในวัดชัยภูมิวนาราม

ประเพณีแห่บุญกระธูป

ประเพณีแห่บุญกระธูป

ประเพณีแห่บุญกระธูป

ในอดีตแต่ก่อนประเพณีออกพรรษา ชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันสร้างกระธูปโดยจะตีเกราะเคาะขอลอให้ชาวบ้านออกไปรวมตัว ณ จุดนัดหมาย (อาจเป็นศาลากลางบ้านหรือบ้านผู้ใหญ่บ้าน) หนุ่มสาวตื่นเต้นมากในการไปพันกระธูป ซึ่งกว่าจะเป็นกระธูปจุดได้ต้องผ่านกระบวนการยาวนานพอสมควรเพราะไม่ใช้กระธูปหรือธูปที่วางขายตามท้องตลาด แต่เกิดมาจากการขยี้เอามาจากกาบมะพร้าวจนร่วงออกมาราวผง แล้วพันด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หุ้มอีกทีด้วยกระดาษสีหรือกระดาษหลากสีสัน ก่อนที่จะนำเข้าไปมัดกับดาวก้านตาล (สานจากใบตาลหรือใบลาน) จากนั้นจึงนำไปมัดห้อยกับก้านธูปที่เป็นเสมือนคันเบ็ด ทำไว้มากๆเสร็จแล้วจึงนำเข้าไปเสียบเข้าไปรูรอบปล้องไม้ไผ่ทำเป็นชั้นขึ้นไปเหมือนฉัตร ประดับตกแต่งงดงามก่อนที่จะนำออกมาจุดในวันเวียนเทียนออกพรรษา และในปัจจุบันประเพณีบุญกระธูปได้เป็นอัตลักษณ์ของอำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ
ความร่มเย็นอันยิ่งใหญ่ของ กระธูป สัญลักษณ์แทนต้นหว้า ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชมพูทวีปถูกบันทึกไว้ในหนังสือฎีกาพระมาลัยสูตร ความว่า ลักษณะของต้นกระธูปมีความยาวประมาณ ๕๐ โยชน์ มีกิ่งใหญ่ ๔ กิ่ง แผ่ออกไปใน ๔ ทิศทาง กว้างเป็นมณฑลได้ ๑๐๐ โยชน์ หมายถึง พระพุทธศาสนานี้ เป็นร่มเย็นแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเอา ต้นกระธูปนี้ จุดแล้วย่อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปยังทิศต่างๆ กลิ่นหอมนี้ ย่อมเป็นที่ชื่นใจแก่มนุษย์ ทั้งปวงที่ได้สัมผัสกลิ่นย่อมเกิดปิติและความสุขความเบิกบาน คุณค่าทางจิตใจประดิษฐ์ขึ้นง่ายๆ จากวัสดุภายในท้องถิ่น ประกอบด้วย ขลุยมะพร้าว ใบอุ้ม ใบเนียม โดยนำใบไม้ทั้ง ๒ ชนิดมานึ่งแล้วนำไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นนำมาบดอีกครั้งจะได้ฝุ่นที่มีกลิ่นหอมแล้วจึงนำไปผสมกับขลุยมะพร้าวห่อด้วยกระดาษให้ได้รูปทรงยาวเหมือนธูป นำกระดาษสีมาประดับตกแต่งลวดลายให้สวยงาม ส่วนใหญ่นิยมเป็นลายไทย เช่นเดียวกับลายมัดหมี่ แล้วนำที่มัดติดกันกับดาวซึ่งทำจากใบคันไม้ไผ่ลักษณะคล้ายคันเบ็ดแล้วนำไปเสียบไว้กับแกนไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ความสูงประมาณ ๓-๕ เมตร รูปทรงคล้ายฉัตรก่อนจะนำไปแห่และจุดไฟบูชา พร้อมกันนี้ให้เอาลูกดุมกาลักษณะคล้ายส้มแต่มีเปลือกแข็งมาผ่าเป็น ๒ ซีก ใส่น้ำมันพืชลงไปแล้วควั่นด้ายเป็นรูปตีนกา เพื่อจุดให้แสงสว่างใต้ต้นกระธูป

ประเพณีแห่บุญเดือนหกอำเภอบ้านเขว้า

ประเพณีแห่บุญเดือนหกอำเภอบ้านเขว้า

ประเพณีแห่บุญเดือนหกอำเภอบ้านเขว้า

งานประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประเพณีเก่าแก่ของภาคอีสาน ที่จัดเป็นประจำสืบต่อกันมาช้านาน เพื่อเป็นการถวายแด่พญาแถน โดยชาวอีสานมีความเชื่อถือว่า การทำบุญบั้งไฟจะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารตามเรือกสวนไร่นาอุดมสมบูรณ์ ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี รวมถึงชาวบ้านของตำบลตลาดแร้ง อำเภอบ้านเขว้า จังหวัดชัยภูมิ ที่ได้มีการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประจำทุกปี เมื่อถึงเดือน 6 ของทุกปี โดยเป็นการจัดงานเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของ “พระยาภักดีชุมพล”หรือเจ้าพ่อพญาแลเจ้าเมืองคนแรกผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิ เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูต่อเจ้าพ่อพญาแล ผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิ ที่ให้ชาวชัยภูมิอยู่อาศัยประกอบอาชีพเท่าทุกวันนี้ เช่นเดียวกับประเพณีบุญเดือนหกของจังหวัดชัยภูมิ และเพื่ออนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม อันดีงามของท้องถิ่นสืบต่อไป นอกจากนี้ ยังจัดเพื่อสร้างความรักสมัครสมานสามัคคี ของชาวชัยภูมิที่มีอยู่แล้วให้ยั่งยืนยิ่งๆขึ้น ในงานจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การประกวดหลานปู่แล เวทีร้องเพลงลูกทุ่งและพื้นบ้าน การจัดนิทรรศการของ ทุกภาคส่วน การแสดงดนตรีพื้นบ้านและศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียง

เทศกาลงานงิ้วใหญ่ชัยภูมิ

เทศกาลงานงิ้วใหญ่ชัยภูมิ

เทศกาลงานงิ้วใหญ่ชัยภูมิ

สำหรับชาวชัยภูมิเสื้อสายจีนนั้น ทุกๆ ปีในช่วงเดือนธันวาคมก่อนสิ้นปี ชัยภูมิจะมีการจัดงานเทศกาลงานงิ้วใหญ่เป็นประจำทุกปีบนถนนยุติธรรมตั้งแต่แยกตัดกับถนนหฤทัยไปจนถึงถนนโนนม่วง ในงานจะประกอบด้วยเวทีจัดการแสดงงิ้วใหญ่ รวมถึงพื้นที่ในการจัดกิจกรรมไหว้เทพเจ้าต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีการออกร้านค้าอาหารต่างๆ มากมาย มีการจัดการแข่งขันตะกร้อเยาวชน และมีหนังกลางแปลงเป็นประจำทุกปีเช่นกัน ในส่วนของการแสดงงิ้วใหญ่นั้น เสน่ห์ส่วนหนึ่งที่ดึงดูดช่างภาพให้เข้ามาเก็บภาพทุกปี คือ การถ่ายภาพการแต่งหน้านักแสดงงิ้วบริเวณหลังเวทีก่อนเริ่มการแสดงในทุกวัน ซึ่งทุกปีเจ้าของคณะจะอนุญาตให้ช่างภาพขึ้นไปหลังเวทีเพื่อเก็บภาพได้เสมอ

ประเพณีบุญเดือนหก

ประเพณีบุญเดือนหก

ประเพณีบุญเดือนหก

งานบุญเดือนหกของชัยภูมิที่ถือเป็นงานสักการะเจ้าพ่อพญาแล ถือเป็นงานเทศกาลฉลองความยิ่งใหญ่ของชาวชัยภูมิ เรียกว่า งานเทศกาลบุญเดือนหก ที่จะทำการจัดในวันจันทร์แรกของเดือนหกเป็นประจำทุกปี (ต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี) อันเป็นการรำลึกถึง ความดีของท่าน โดยในการจัดงานนี้ประกอบด้วย พิธีเปิดงานสุดยิ่งใหญ่ พิธีบายศรีบวงสรวงดวงวิญญาณของเจ้าพ่อพญาแล และที่พลาดไม่ได้กับขบวนแห่พานบายศรีถวายเจ้าพ่อพญาแล ที่มีผู้มีจิตศรัทธาเจ้าพ่อพญาแล หลั่งไหลมาจากทั่วทั้งในและต่างประเทศกว่า 30,000 คน ร่วมงานประเพณีแห่พานบายศรีบุญเดือนหก ระยะทางยาวกว่า 5 กิโลเมตร จากสนามกีฬากลางจังหวัดชัยภูมิถึงบริเวณศาลเจ้าพ่อพญาแล เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของ “พระยาภักดีชุมพล”หรือเจ้าพ่อพญาแลเจ้าเมืองคนแรกผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิ เพื่อแสดงออกถึงความกตัญญูต่อเจ้าพ่อพญาแล ผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิ ที่ให้ชาวชัยภูมิอยู่อาศัยประกอบอาชีพเท่าทุกวันนี้ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม อันดีงามของท้องถิ่นสืบต่อไป และเพื่อสร้างความรักสมัครสมานสามัคคี ของชาวชัยภูมิที่มีอยู่แล้วให้ยั่งยืนยิ่งๆขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การประกวดหลานปู่แล ประกวดร้องเพลงลูกทุ่งและพื้นบ้าน การจัดนิทรรศการของ ทุกภาคส่วน การแสดงดนตรีพื้นบ้านและศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงลิเกจากคณะลิเกพระราชทาน การแสดงและจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น OTOP ยิ่งใหญ่ตลอดการจัดงาน ทั้ง 9 วัน 9 คืน

ประเพณีตรุษจีนชัยภูมิ

ประเพณีตรุษจีนชัยภูมิ

ประเพณีตรุษจีนชัยภูมิ

ชัยภูมิเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีการให้ความสำคัญกับการจัดงานประเพณีตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยได้จัดอย่างยิ่งใหญ่กลางเมืองติดต่อกันมาเป็นปีที่ 11 แล้ว (ปี 2560 ไม่ได้จัดเนื่องจากอยู่ในช่วงเวลาแห่งการถวายความอาลัยของปวงชนชาวไทย) ในงานแต่ละปีจะมีกิจกรรมสืบทอดประเพณีอันดีงามของชาวไทยเชื้อสายจีน และเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดชัยภูมิ ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลอาหารอิ่มบุญ อิ่มสุข เพื่อมอบความสุขให้ประชาชนทั่วไปและชาวไทยเชื้อสายจีนตลอดช่วงงาน 2 วันเต็ม ซึ่งจะมีการเปิดลานกิจกรรมมากมาย ณ เวทีชั่วคราว บริเวณอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล หรือ พระยาภักดีชุมพล เจ้าเมืองคนแรกผู้ก่อตั้งเมืองชัยภูมิ ที่จะมีการเปิดให้ชมการแสดงกิจกรรมตื่นเต้น เร้าใจ โลดโผนมังกร และสิงโตกระโดดเสาดอกเหมย อย่างสุดอลังการ จากคณะสิงโตชื่อดังของเมืองไทย นอกจากนี้ ยังมีเทศกาลลานอาหารอิ่มบุญอิ่มสุขไปตลอดงาน เปิดเป็นซุ้มอาหารนับร้อยซุ้มยาวไปตลอดถนนสายหฤทัยทั้งสายยาวกว่า 1 กม.ให้บริการอาหารฟรีตลอดทั้งงาน ที่มีการประดับโคมไฟตรุษจีนหลายร้อยดวงบนถนนอย่างสวยงามน่าประทับใจตลอดเส้น และชมแสงสีเสียง การแสดงต่างๆ มากมายทุกปี และยังเป็นเทศกาลที่ถ่ายภาพได้ยากงานหนึ่งที่เหล่าช่างภาพต้องการมาเก็บภาพกันเสมอ

ประเพณีตีคลีไฟ

ประเพณีตีคลีไฟ หนึ่งเดียวในโลก

ประเพณีตีคลีไฟ หนึ่งเดียวในโลก

ประเพณีตีคลีไฟ เป็นประเพณีไทยจากภูมิปัญญาท้องถิ่น จัดให้มีขึ้นมาแต่โบราณ โดยได้แนวคิด มาจากการตีคลีของพระสังข์กับพระอินทร์ในวรรณคดี เรื่อง สังข์ทอง การตีคลีไฟเป็นวิธีการแก้ปัญหาการขาดเครื่องนุ่งห่มในสมัยก่อน หน้าหนาวจะหนาวมาก พวกผู้ชายจะออกมาที่สนามหน้าลานบ้านแล้วมาร่วมเล่นตีคลีไฟกับพวกผู้หญิง ๆ จะเป็นผู้เผาลูกคลีไฟ ทำให้หายหนาวได้ และเป็นการสร้างความสามัคคีให้ แก่คนในหมู่บ้านอย่างชาญฉลาด โดยการตีคลีไฟ เป็นหนึ่งในประเพณีไทยเพื่อการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ให้การเล่นดังกล่าว ได้รับการถ่ายทอดจากคนรุ่นหลัง ผู้เป็นต้นเค้าการเล่นครั้งแรก คือ นายหล้า วงษ์นรา ผู้ใหญ่บ้านหนองเขื่อง ตำบลกุดตุ้ม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ เริ่มเล่นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งเป็นปีแรกที่ตั้งหมู่บ้านหนองเขื่อง ที่เพิ่งแยกตัวมาจากบ้านกุดตุ้ม และสืบสานต่อคนหนุ่มในบ้านหนึ่ง ไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง ถือว่าตีคลีไฟ เป็นประเพณีของหลายหมู่บ้าน ในละแวกเดียวกัน ใช้เชื่อมความสัมพันธ์ของคนในหมู่บ้าน และได้สืบสานต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รัก และอนุรักษ์กีฬาตีคลีลูกไฟ ซึ่งจะเล่นกันในฤดูหนาว ช่วงพระอาทิตย์ลับฟ้า และเพื่อให้เกิดความ สวยงาม และช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ถือเป็นการวัดใจของผู้ชายอย่างแท้จริง เพราะเป็นความสมัครใจในการเล่น

ตีคลีไฟเป็นประเพณีไทย ที่เล่นกันช่วงฤดูหนาวหลังออกพรรษา ประกอบด้วยผู้เล่นข้างละ ๑๑ คน ชาวบ้านจะใช้ไม้จากต้นหนุนแห้งมาตัดเป็นท่อนแล้วเผาไฟจนกลายเป็นถ่าน ให้ผู้เล่นใช้ไม้ซึ่งทำจากไม้ไผ่หัวขวานลักษณะคล้ายไม้กอล์ฟ ตีเข้าประตูของฝ่ายตรงข้าม ทีมใดที่สามารถตี ลูกคลีไฟเข้ามากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งชาวบ้านหนองเขื่อง จะเล่นกันมานาน เป็นกีฬาพื้นบ้านที่จัดให้มีการแข่งขันในช่วงเทศกาลออกพรรษา ของทุกปี ซึ่งนับเป็นประเพณีไทยอีกหนึ่งการละเล่นที่สามารถรับชมได้ที่ บ้านหนองเขื่อง ต.กุดตุ้ม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ แห่งเดียวเท่านั้น

เรื่องราวเริ่มต้นของประเพณีตีคลีไฟ เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ โดยสมัยก่อนจะมีการก่อกองไฟแก้หนาวในช่วงพลบค่ำ วันหนึ่งระหว่างที่มีการเล่นตีคลี บังเอิญลูกคลีเกิดกลิ้งเข้าไปในกองไฟแล้วติดไฟ แต่ด้วยความสนุกและไม่อยากหยุดเล่น ชาวบ้านจึงตีคลีกันต่อทั้งที่ติดไฟ แต่พอตีแล้วเห็นเป็นแสงไฟสวยงาม ทำให้ถูกนำมาเล่นกันเป็นประจำ                 ประเพณีตีคลีไฟ จะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือน พฤศจิกายนหรือธันวาคม ณ วัดแจ้งสว่าง บ้านหนองเขื่อง ต.กุดตุ้ม อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ผู้ที่สนใจกีฬาพื้นบ้านแบบนี้ก็สามารถไปชมได้ที่วัดแจ้งสว่าง ซึ่งนอกจากการแข่งขันตีคลีไฟแล้ว ก็ยังมีกีฬาพื้นบ้านอื่นๆ อาทิ แข่งเรือ ชกมวยทะเล ให้ได้ร่วมสนุกสนานด้วย